วันศุกร์ที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2552

หลวงพ่อชำนาญ อุตตมปัญโญ วัดบางกุฏีทอง ตอน กังวาน วรกิจ :


หลวงพ่อสอนศิษย์เสมอว่า

เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนานั้นแสนยาก ปัจจุบันนี้มีโอกาสแล้ว ให้พยายามละชั่วให้มากๆ ทำดีให้ถึงที่สุด

จะได้ไม่เสียชาติเกิด ไม่รู้ว่ากี่แสนชาติกี่ล้านภพ จะได้เกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนาอันประเสริฐสูงสุดอย่างนี้อีก.....

บันทึกน้อยตอนนี้ขึ้นต้นเรื่องด้วยคำสอนของท่านหลวงพ่อชำนาญ อุตตมปัญโญ หรือ ท่านพระครูปทุมวรกิจ เจ้าอาวาสวัดบางกุฏีทอง จังหวัดปทุมธานีครับ...

หลวงพ่อชำนาญ ท่านเป็นพระเชื้อสายมอญ บรรพบุรุษของท่านสืบเชื้อสายมอญมาตั้งแต่อดีต การที่ท่านได้เล่าเรียนวิชาอาคมจากครูบาอาจารย์เชื้อสายมอญ ทั้งที่เป็นพระสงฆ์และฆราวาส ทำให้ท่านมีความรู้ในเรื่องของวิชาอาคม พิธีกรรม ธรรมเนียมปฏิบัติ ของสายทางมอญเป็นอย่างดี

จะว่าไปแล้วในปัจจุบันผมเชื่อว่าท่านเป็นพระที่สืบสายความรู้ในด้านต่างๆของมอญเก่งอย่างชนิดที่เรียกว่า หาตัวจับได้ยาก..

ความชอบและความอยากรู้ไม่ได้เปลี่ยนแปลงคน มันเป็นแต่เพียงขยายสิ่งที่ชอบ สิงที่อยากรู้ให้ใหญ่ขึ้น....

หลวงพ่อเคยเล่าให้ผมฟังว่า ตอนที่ท่านยังเป็นสามเณรน้อย ท่านได้เรียนหนังสือไทยและมอญ ควบคู่กันไป และยังได้ติดตามอาจารย์ของท่านซึ่งมีทั้งพระไทยและพระเชื้อสายมอญ ออกธุดงค์ไปตามที่ต่างๆ....

ด้วยใจที่รักในเรื่องเหล่านี้ ท่านจึงได้ขอเรียนวิชาทั้งจากพระสงฆ์และฆราวาส เดินทางเข้าไปเรียนถึงประเทศพม่า วิชาต่างๆที่ท่านศึกษามาปัจจุบันนี้ท่านก็ได้นำมาสงเคราะห์แต่บรรดาลูกศิษย์ตลอดจนผู้ที่เข้ามาแสวงหาที่พึ่งทางใจ

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยา การรักษาโรคแบบโบราณ เช่นการเสกไพล รักษาโรค หลังจากได้สะสมวิชาการต่างๆจนพอใจแล้ว ท่านจึงได้เดินทางกลับมาจำพรรษาที่วัดบางกุฎีทองแห่งนี้

สมัยนั้นเจ้าอาวาสวัดบางกุฎีทองมีชื่อว่า หลวงปู่สุรินทร์ เรวโต หลวงปู่สุรินทร์ ท่านเป็นลูกศิษย์ของ ท่านเจ้าคุณรามัญมุนี เจ้าอาวาสวัดบางหลวง หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง นครปฐม หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก...

สามเณรน้อยชำนาญ ท่านได้อยู่ปรนนิบัติหลวงปู่สุรินทร์ โดยนอนอยู่กุฎิเดียวกัน ทำให้สามเณรชำนาญท่านได้รับการถ่ายทอดวิชาอาคมต่างๆจากหลวงปู่สุรินทร์ไว้จนหมดสิ้น จนท่านอายุครบบวช

หลวงปู่สุรินทร์ท่านจึงได้จัดอุปสมบทให้ โดยมี พระราชพุฒิเมธี (เทียน ฐานุตตโม) วัดบางหลวง เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูปทุมธรรมนุสิฐ (หลวงปู่สุรินทร์) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระครูปทุมสุตคุณ เจ้าคณะตำบลบางกระดี เป็นพระอนุสาวนาจารย์...

จะว่าไปแล้ววัดบางกุฎีทองแห่งนี้มีอายุนานมาเกือบร้อยปีแล้ว เดิมชื่อวัดบางกุฎีมอญ..และตั้งอยู่ในชุมชนเชื้อสายมอญ จัดว่าเป็นวัดเล็กๆซึ่งถามใครก็ไม่ค่อยมีคนรู้จักสักเท่าใด

แต่ปัจจุบันนี้วัดบางกุฎีทองเจริญขึ้นแบบที่เราเรียกว่าพลิกฝ่ามือเลยก็ว่าได้ ความมีชื่อเสียงของวัด ช่วยส่งผลให้คุณภาพชีวิตของชาวบ้านย่านบางกุฎีแห่งนี้ดีขึ้นตามไป

ไม่ว่าจะเป็นถนนทางเข้า รวมไปถึงระบบสาธารณูปโภคต่างๆ จึงไม่แปลกหรอกครับที่หลวงพ่อชำนาญ ท่านจะเป็นที่รักและเคารพของชาวบ้านย่านนี้ไม่แพ้ชาวบ้านต่างถิ่น..

ครูบาอาจารย์น่ะเขาไม่ทิ้งศิษย์หรอก ต้องช่วยกันจนกว่าจะตายไปข้างหนึ่งละ....

สมัยก่อน หลวงพ่อชำนาญท่านเคยเป็นพระอาจารย์สักยันต์ เป็นที่เชื่อถือและมั่นใจของลูกศิษย์เลยว่า แมลงวันไม่ได้กินเลือด... ทั้งสักยันต์เอง หรือจะเป็นการสักแก้หลวงพ่อท่านทำมาหมดแล้ว

คงเป็นเพราะคำพูดที่ท่านชอบพูดเสมอว่าไม่ทิ้งลูกศิษย์นี่แหละครับ ทำให้ท่านต้องเดินขึ้นประกันตัวลูกศิษย์บ่อยครั้ง จนสุดท้ายท่านจึงได้เลิกสักยันต์ ถึงแม้ว่าท่านจะเลิกสักยันต์ แต่ท่านก็ไม่ได้เลิกทิ้งความช่วยเหลือที่มีให้กับลูกศิษย์...

บ่อยครั้งครับ ที่ผมมักเห็นหลวงพ่อในสภาพที่อิดโรย เพราะการนั่งรับแขกตั้งแต่เช้าจรดเย็น บางทีก็เลยเข้าไปถึงดึก ท่านจะนั่งรับแขก นั่งรับความทุกข์ทางใจของผู้คนที่เข้ามาหาท่าน

บางคนสมหวังกับไปด้วยรอยยิ้ม ทิ้งให้หลวงพ่อนั่งทำใจใช้สมองว่าจะช่วยแก้ไขให้พวกเขาอย่างไร โดยเฉพาะวันเสาร์ อาทิตย์นี่แหละครับ เราจะเห็นแฟนคลับของหลวงพ่อเข้ามาแวะเวียนเสมอๆ

หลายครั้งที่ การแวะเวียนเข้ามาก่อให้เกิดการเข้าใจผิด โดยเฉพาะกับ ขาจร หรือ ผู้ที่เข้ามาใหม่ ประมาณว่าเห็นคนนั่งรอแล้วถอดใจ ขอเรียนว่าเป็นเรื่องปกติครับ เพราะเมื่อท่านถอดใจ ก็โปรดจงเชื่อมั่นเถอะว่า

ผมเคยถอดใจมากกว่าท่านหลายเท่านัก..

แต่ถ้าเราอดทนและเชื่อถือในกติกา ก็จงเชื่อมั่นอีกเถอะครับว่า

ท่านต้องได้เข้าถึงหลวงพ่อแน่ๆ...

ถามผมว่าเพราะอะไรผมถึงกล้าพูดคำนี้ อยากให้ทุกท่านลองฟังอมตะวาจาของหลวงพ่อที่มักบอกกับลูกศิษย์เสมอๆ...

ถ้าแกไม่ทิ้งข้า ข้าจะทิ้งแกได้อย่างไร มีอะไรขอให้นึกถึงเถอะ ข้าจะไปช่วยแกเอง..

หลายคนที่ฝากตัวเป็นศิษย์ของท่านจะรู้ดีว่า หลวงพ่อชำนาญให้ความช่วยเหลือแก่พวกเขาขนาดไหน หากเราละที่จะพูดถึงในเรื่องของวัตถุมงคล เอาเรื่องเกี่ยวกับทางใจ ล้วนๆ....

ผมก็ยกตัวอย่างขึ้นมาไม่ไหวแล้วเพราะมันเยอะจริงๆ..... จะว่าไปแล้ว ปริมาณคนที่เข้ามาเยือนวัดแห่งนี้แหละครับที่มันสามารถเป็นเครื่องวัดคุณภาพอย่างเป็นทางการ..

หลวงพ่อจะให้ความสำคัญและจริงใจในการช่วยเหลือกับทุกคนที่เข้ามาหาท่าน เพราะท่านมักบอกผมแบบติดตลกเสมอเวลาที่ผมเข้าไปกราบท่านว่า..

เวลาพวกเอ็งดีๆ ข้าไม่เคยเห็นหัวเลย...นึกว่าพวกเอ็งไม่รู้จักวัดบางกุฎีทองซะแล้ว

เพื่อนๆ ท่านใดที่มีปัญหาทุกข์ใจหรือต้องการกราบพระดีๆ สักองค์ก็ขอเชิญนะครับ หลวงพ่อท่านยินดีต้อนรับและวัดบางกุฎีทองแห่งนี้ ไม่เคยแบ่งชนชั้น พบปะเจอหน้าพูดคุยได้เสมอ การแก้ไขอาจจะไม่ได้เห็นผลทันตา

แต่แค่ว่า ความสบายใจที่หลวงพ่อได้เมตตารับเรื่องของท่านเพื่อดำเนินการแก้ไขตามกรรมวิธีของท่าน ผมเชื่อว่าก็ส่งผลให้ท่านสุขใจไปได้แล้วครับ ยกเว้นอย่างเดียวที่หลวงพ่อจะไม่ช่วยและถ้ายังใจกล้าถามท่าน เพื่อนๆอาจจะโดนสวนกลับอย่างสุภาพคือ..”การขอหวยครับ...

ที่ผมพ่นมาทั้งหมดนี้ไม่ใช่นึกจะเล่าก็เล่านะครับ เรื่องทั้งหมดคือความจริง สามารถสอบถามกับลูกศิษย์ของท่านได้ทุกคนว่าหลวงพ่อชำนาญท่านมี ความเมตตา ขนาดนี้จริงหรือเปล่า..อยากให้ทุกท่านได้เข้าใจในสภาพของความเป็นจริง ในยามที่มีคนมากก็ต้องใช้ความอดทนรอกันซักนิด...

จะว่าไปแล้วสภาพสงคมในปัจจุบัน มีลักษณะของการแยกขาดกันอย่างสิ้นเชิง ระหว่างคนที่ รู้ และ เข้าใจ กับ กลุ่มที่ ไม่รู้ และ ไม่เข้าใจ สังคมแบบไหนล่ะครับที่เราว่าน่าอยู่ เพื่อนๆลองคิดดูสิครับ

ส่วนตัวผมแล้วการอยู่ด้วยการพยายามทำความเข้าใจ หมั่นพิจารณา มันคือการทำให้สังคมนี้น่าอยู่ครับ

อวิชชา คือ ความไม่รู้ แต่ถ้าเรารู้และเชื่อฝังใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มันก็จะเป็นอวิชชาได้....ฝากให้พวกเอ็งไว้คิด..

ฟังแล้วต้องถอนหายใจยาวๆ แล้วนั่งลงคิดครับ เป็นเพราะพวกเราไม่เข้าใจในสภาพของหลวงพ่อหรือเปล่า ว่า ณ ขณะนั้นสถานการณ์เป็นอย่างไร ท่านมีกิจธุระส่วนตัวไหม หรือมีภารกิจที่ท่านต้องออกไปปฏิบัติ

และถ้าเราจะเปิดใจอย่างเป็นธรรมแล้วผมคิดว่า ระหว่างพวกเรากับหลวงพ่อชำนาญ เราควรจะเปิดช่องว่างไว้สำหรับให้หายใจระหว่างกันและกันได้ก็จะดีมิใช่น้อย...

ฉะนั้น ต้องเริ่มต้นกันที่ตรงนี้ ตรงที่ความเข้าใจกันก่อนครับ อย่างได้ไขว้เขวหรือคิดเข้าข้างตนเอง.....

ทุกวันนี้สังคมของเราเสื่อมทรามลง เราต้องใช้สติปัญญาให้มากในการใช้ชีวิตในสังคม...

ผมเชื่อว่า ลูกศิษย์ของหลวงพ่อชำนาญคงทราบดีว่า หลวงพ่อเป็นพระนักอนุรักษ์ของเก่า เท่าที่ผมเห็นผ่านๆตามาบ้างก็เช่น ตู้พระธรรม นาฬิกา โกฎิไม้บรรจุกระดูกคนโบราณ ฯลฯ..ที่ยกตัวอย่างมาถือว่าเป็นเรื่องเล็กๆน้อยๆ ครับ แต่เรื่องใหญ่ๆ และเพิ่งผ่านพ้นไปเมื่อ ๑๙ ตุลาคม ๒๕๕๑ คือเรื่องนี้ครับ...

พิธีไหว้ครูดุริยางค์ศาสตร์ นาฏศิลป์ ดนตรีและครอบครู

ซึ่งหลวงพ่อจัดขึ้นเนื่องในโอกาสที่ท่านจะมอบเครื่องปี่พาทย์มอญ ให้กับเด็กและเยาวชน ซึ่งเหตุผลที่หลวงพ่อได้ดำเนินการตั้งวงปี่พาทย์มอญขึ้น เพราะต้องการให้เด็กๆ ได้ฝึกการบรรเลง ดุริยางค์ศาสตร์ จะได้ทำให้เด็กๆเหล่านี้ได้ซึมซาบวัฒนธรรมและรู้จักการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

ซึ่งเมื่อเด็กๆเหล่านี้ออกแสดงและได้เงินมาก็ให้แบ่งเงินออกเป็นสองส่วนคือไว้เป็นทุนการศึกษาของตนเองและให้คุณครูเก็บไว้สำหรับซื้อเครื่องดนตรีเพิ่มเติมและซ่อมแซมเครื่องดนตรีที่ชำรุด...

กังวาน วรกิจ... แปลว่า เสียงสวรรค์อันประเสริฐดังก้องกังวานไปไกลทั่วพื้นธรณี คือชื่อของวงปีพาทย์มอญ วงนี้ครับ...

ในวันนี้ หลวงพ่อชำนาญท่านได้ทำการมอบเครื่องปี่พาทย์มอญให้กับเด็กๆเหล่านี้ และท่านได้เมตตา ครอบครู ให้กับเด็กๆ และลูกศิษย์ที่เข้าร่วมพิธีในครั้งนี้ แน่นอนครับหนึ่งในผู้ที่เคารพเลื่อมใสในตัวท่านย่อมต้องมีผมด้วย.....

ปกติแล้วหลวงพ่อชำนาญท่านจะจัดงานเป่ายันต์พรหมสี่หน้าและครอบครูแบบรวมกันไปในพิธีเดียวกัน จะว่าไปแล้วก็ต้องเห็นใจหลวงพ่อครับ เพราะการที่จะมานั่งครอบครูให้ที่ละคนเห็นถ้าจะไม่ไหว ลำพังแค่ท่านนั่งหรือเดินประพรมน้ำมนต์ให้กับลูกศิษย์ในพิธีแต่ละครั้งก็แย่แล้วครับ ผมเคยเห็นว่ามีบางปีท่านเดินพรมน้ำมนต์เสียจนหัวไหล่เกือบหลุด

แต่ครั้งนี้พิเศษครับ เพราะท่านได้ครอบครูให้กับลูกศิษย์ด้วยตัวท่านเองที่ละคน เป็นความเชื่อถือและเชื่อมั่นกันเลยว่า..

ผู้ที่เข้ามาครอบครูกับหลวงพ่อมักจะเจริญรุ่งเรือง ก้าวหน้ากันทุกคน

เพราะอะไรทำให้พวกลูกศิษย์เชื่อมั่นกันในเรื่องนี้ ตอบคำถามได้ง่ายมากครับ เพราะบุญบารมีของหลวงพ่อชำนาญที่ท่านได้สั่งสมมาตลอดชีวิตของท่านนั่นแหละเป็นคำตอบสุดท้ายของคำถามนี้

พูดถึงเรื่องของการไหว้ครูกันก่อนครับ...การไหว้ครูถือเป็นวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียม อันดีงามของสังคมไทยมาแต่โบราณแล้วครับ

ซึ่งชาวไทยมีความเชื่อกันว่า ครู เป็นเสมือนพ่อแม่คนที่สอง และ ครู ถือว่าเป็นทิศเบื้องขวา หรือที่เราเรียกกันว่า ทักขิณทิศ เป็น ทิศที่ให้ความถนัด นัยยะคือผู้ที่ให้วิชาความรู้แก่เรา..

อธิบายความได้ว่า การไหว้ครู ก็คือการที่ลูกศิษย์แสดงความเคารพนับถือครูบาอาจารย์ว่าท่านเป็นผู้เพียบพร้อมไปด้วยคุณธรรมความรู้ พวกลูกศิษย์ในฐานะที่เป็นผู้สืบทอดความรู้และวิชาการต่างๆ

จึงต้องพร้อมใจกันปวารณาตัวเพื่อรับการถ่ายทอดความรู้ด้วยความวิริยะ อุตสาหะ มานะและอดทน เพื่อให้ตนเองบรรลุวัตถุประสงค์จุดหมายปลายทางของการศึกษาตามที่ตนเองได้ตั้งใจไว้...

ในสมัยโบราณการเรียนดนตรีไทยค่อนข้างจำกัด สถานที่สำหรับเรียนก็หาได้ค่อนข้างยาก ส่วนมากจะฝึกหัดกันอยู่เฉพาะในตระกูล ในครอบครัว ในเครือญาติที่เป็นดนตรีด้วยกัน

เวลาจะไปเรียนก็ต้องมีแบบแผนขนบประเพณี กล่าวคือ ต้องมีผู้ใหญ่พาผู้เรียนไปฝากกับผู้สอน ผู้เรียนต้องเตรียมดอกไม้ธูปเทียนไปไหว้ครูผู้ใหญ่ฝ่ายดนตรีผู้ล่วงลับไปแล้ว และเคารพผู้สอน จึงจะได้รับการประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้และฝึกฝนให้

จะว่าไปแล้วลักษณะนิสัยของคนไทยเรามักจะยึดมั่นในความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ..โดยเฉพาะครูบาอาจารย์ไม่ว่าสาขาวิชาใด เรามักจะเคารพบูชาและน้อมระลึกถึงบุญคุณอยู่เสมอ

เรื่องแบบนี้ ความเชื่อพวกนี้ พวกเราจะละเลยไม่ได้นะครับ...

พิธีไหว้ครูดนตรีไทย นับเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามอย่างหนึ่ง ที่ครูบาอาจารย์ได้กำหนดระเบียบแบบแผน ให้ปฏิบัติสืบเนื่องกันมาแต่โบราณกาล โดยได้นำหลักเกณฑ์และแนวความเชื่อ ในศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธมารวมเข้าด้วยกัน

จึงปรากฏว่านักดนตรีไทยนอกจากจะมีครูเป็นมนุษย์แล้วยังมีครูเป็น เทวดาและฤษีอีกส่วนหนึ่งด้วย

เพราะเป็นที่เชื่อถือกันว่า เทพบางองค์มีความผูกพันเกี่ยวข้องกับดนตรีไทย เช่น พระประโคนธรรพ ถือว่าเป็น ครูตะโพนซึ่งนักดนตรีไทยถือว่าเป็นครูที่มีความสำคัญมาก พระวิษณุกรรมถือว่าเป็นครูแห่งช่างศิลปะแขนงต่าง ๆ เป็นต้น

ย้อนเข้ามาถึงเรื่องของพิธีกรรมครอบครูกันบ้าง ด้วยความที่มักมีเหตุการณ์ปาฎิหาริย์เกิดขึ้นเสมอๆ ในระหว่างการทำพิธีกรรมต่างๆ ที่ผ่านมาของหลวงพ่อ ทำให้ลูกศิษย์ทุกคนมั่นใจว่า

หลวงพ่อชำนาญของพวกเรา ท่านเป็นที่รักของเหล่าเทวดาที่เรามองด้วยสายตาไม่เห็น..

ผมเชื่อว่าเพื่อนคงต้องเคยรับทราบกันมาบ้างแล้วว่า ศาสตร์การครอบครู ถือว่ามีความสำคัญ จะล้อเล่นหรือลบหลู่ไม่ได้ ดังนั้นผู้ที่จะเข้ามาถือ ศรีษะครู จึงต้องมีบารมีพอตัว....

พิธีกรรมการครอบครู เป็นพิธีที่นิยมกันมานานแล้วครับ วิธีปฏิบัติคือการที่นำเอาศีรษะครู หรือที่เราเรียกง่ายๆว่า เศียรครู มาครอบเพื่อรับเป็นศิษย์ นัยว่าครูจะคอยควบคุมรักษา คอยช่วยเหลือให้ลูกศิษย์มีความจำในกระบวนท่ารำ จังหวะ ฯลฯ หากมีสิ่งใดที่ไม่งามจะเกิดขึ้นกับศิษย์ ครูจะช่วยปัดเป่าให้พ้นจากตัวลูกศิษย์

เชื่อกันว่า พิธีกรรมการครอบครู นั้นถือได้ว่าเป็นการทำให้ผู้เรียนมีกำลังใจว่าครูจะคุ้มครองรักษา ครูจะช่วยเหลือแม้จะรำผิดพลาดไปบ้าง จะทำให้ผู้เรียนไม่ตระหนกตกใจจนเกินไป เพราะทุกคนมีความเชื่อมั่นว่าตัวเองได้ทำพิธีครอบครูแล้ว ครูก็จะให้อภัยในความผิดพลาดที่เกิดขึ้นครับ

จริงๆแล้ว ขั้นตอนและพิธีกรรมต่างๆ ยังมีอีกมากครับ นับว่าเป็นการรวบรวมศาสตร์หลายๆอย่างตามคติความเชื่อมั่นแนวนี้ อย่างเช่น..

การจัดวางเศียรครู ที่เศียรซึ่งตั้งเป็นประธานตรงกลางต้องเป็นเศียรของพระอิศวร รองลงมาก็ต้องเป็นเศียรของพระพิฆเนศ หรือ การจัดเครื่องสังเวย ก็ต้องจัดไม่เหมือนกัน ต้องจัดการตามแบบลักษณะเฉพาะของแต่ละองค์ ฯลฯ

ผมคงต้องขออนุญาตติดเรื่องพวกนี้ไว้ก่อนครับ เพราะเรื่องราวค่อนข้างยาวและมีรายละเอียดประกอบอีกมากมาย เรามาว่าในเรื่องของหลวงพ่อชำนาญในอีกแง่มุมอื่นดีกว่าครับ

ผมเชื่อว่าเพื่อนๆ ทุกคนที่ผ่านชีวิตในช่วงวัยรุ่น คงจะต้องเคยตั้งคำถามถึงความปรารถนา ความต้องการของชีวิตว่า ความต้องการ จากสิ่งใดๆในชีวิตเล่าที่จะเข้ามาเติมเต็มชีวิตและวิญญาณของตัวเองได้เต็มที่สุด....

คำถามประเภทนี้ มันไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับพวกเราหรอกครับ มันเกิดขึ้นกับคนทุกยุค ทุกสมัย...ย้อนหลังไปประมาณกว่าสองพันปี โสเครติส นักปราชญ์ที่มีชื่อเสียงเกรียงไกร ก็ยังเคยถูกตั้งคำถามจากบรรดาลูกศิษย์หนุ่มสาวว่า

โสเครติส สิ่งใดเล่าคือความต้องการในชีวิตของพวกเรากันแน่....

แต่คำถามตามแนวนี้ หากนำมาถามกับหลวงพ่อชำนาญว่าเป็นศิษย์ของหลวงพ่อแล้วจะเจริญก้าวหน้าต้องทำอย่างไรบ้าง...คำตอบมีสองข้อครับ...

๑.ยอมรับกับถือพระรัตนตรัย มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งสูงสุด ที่พึ่งอื่นนอกจากนี้ไม่มี

๒.พยายามรักษาศีลห้าข้อให้ครบบริบูรณ์

เรื่องแบบนี้รัฐธรรมนูญ ไม่ได้บัญญัติไว้ แต่พวกเอ็งต้องจดจำใส่ใจ...

ธรรมมะคือธรรมชาติ อย่ามัวแต่มองออกไปนอกตัว มันอยู่ในตัวพวกเอ็งนั่นแหละ...

ชาวพุทธเชื่อว่า วิธีสร้างบุญบารมีในพระพุทธศาสนามีอยู่ ๓ อย่างคือ

การให้ทาน การถือศีล และการเจริญภาวนา...

ว่ากันว่า การให้ทานหรือการทำทานเป็นการสร้างบุญที่น้อยที่สุด จะทำมากขนาดไหนก็ไม่เท่าการถือศีล และการถือศีลไม่ว่าจะมากมายเหลือคณานับก็ไม่เท่ากับการเจริญภาวนา..

บุญ กับ ทาน มันต่างกัน ยกตัวอย่างง่ายๆ เวลาเราทำบุญเรามักพูดว่าไปทำบุญกับพระ เวลาไปทำทานก็ไปพวกซื้อโลงศพ หรือไปทำทานกับสัตว์...

พวกเอ็งลองคิดดู ไปทำบุญกับพระ เท่ากับเป็นการหล่อเลี้ยงเลือดเนื้อแก่ผู้ที่สืบทอดพระพุทธศาสนา ให้ดำรงอยู่ไว้..

การทำทานก็ถือว่าเป็นเรื่องดี และมีประโยชน์ แต่พวกเอ็งลองคิดดูสิ เรื่องการทำทานมันไม่ได้เป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา เป็นแต่เพียงการทำอะไรให้ตัวเองพอใจเท่านั้น...

ที่ข้าพูดไม่ได้บอกให้พวกเอ็งไม่ต้องทำทาน ตัวข้าเองก็ยังต้องทำทาน เพียงแต่อยากบอกให้พวกเอ็งได้รู้ถึงความแตกต่าง ไม่ใช่มาหาข้าแล้วบอกว่าจะมาทำทานกับข้า....

ผมฟังแล้วก็ต้องหยุดคิดครับ บางทีเราก็แยกไม่ออกระหว่างการทำบุญกับการทำทาน อาจจะเป็นเพราะว่าสังคมในปัจจุบันที่มันเร่งรีบเสียจนเราละเลยรายละเอียดในเรื่องเหล่านี้ก็อาจจะเป็นไปได้ โทษใครไม่ได้ครับ เอาเป็นว่าเข้าใจกันใหม่ให้ถูกต้องก็พอแล้วครับ

สำหรับลูกศิษย์ของวัดบางกุฎีทองแห่งนี้พวกเขามั่นใจครับว่า หลวงพ่อของพวกเขาดีจริง.. คำว่าดีจริงคงใช้กับกลุ่มคนที่นับถือ แต่ตราบใดที่คนเรายังไม่ได้ยืนอยู่ในมุมองศาเดียวกัน ความคิดแตกต่างยังมีให้เห็นเสมอครับ...

ข้าจะเก็บสมบัติเอาไว้ทำอะไร เก็บไว้สร้างกิเลสให้ตัวเองเหรอ เราบวชเป็นพระไม่ต้องกังวล ตายไปก็มีคนเอาไปเผาให้ ถามหน่อยว่าเดือดร้อนอะไร...

ถ้าเราเชื่อว่า ค่าของคน พิสูจน์กันได้ที่ ผลของงาน ผลงานการสร้างประโยชน์และอุปการะให้ความช่วยเหลือของหลวงพ่อชำนาญมีมากมาย รายละเอียดต่างๆ ลองไปอ่านดูได้จากเวปไซด์ของทางวัดจะดีกว่าครับ เพราะผมคงจะเขียนไม่ไหว....

คนเรามองดูไม่ยาก คนไหนที่มีจิตใจหยาบ คำพูด การกระทำ ก็จะออกมาหยาบ แต่ข้าไม่ว่าเขา พวกเอ็งก็ห้ามว่า เรื่องนี้มีเหตุเกิดจากคนพวกนี้ไม่ได้รับการฝึก...

คนที่มีจิตใจละเอียด คือคนที่ได้รับการฝึกมา ฝึกอบรมจิตใจ ดังนั้นเมื่อมีอะไรมากระทบ พวกนี้ก็จะมี สติ ที่จะรู้จักแยกแยะและรู้ถึงสิ่งที่เข้ามาปรุงแต่ง..

เรื่องพวกนี้ดูไม่ยาก ไม่ได้รู้ด้วย ญาณวิเศษอะไรหรอก มองดูด้วยตาก็รู้แล้ว การกระทำมันบอก บางทีว่าไม่ฟัง ข้ายังเคยด่าเลย...

อย่าเอานิสัยฆราวาสมาใช้ที่วัด คุกน่ะเข้ายากแต่อยู่ง่าย วัดน่ะเข้าง่ายแต่อยู่ยาก...

ครับ จะว่าไปแล้วการที่เราจะทำอะไรสักอย่าง ผมว่าความหยาบ ความละเอียด มันอยู่ที่ตัวเราเอง เราเลือกได้ว่าจะทำงานหรือจะมีความคิดแบบไหน จะทำ จะคิด แบบหยาบสุดโต่ง หรือละเอียดสุดขีด แต่สุดท้ายแล้วทุกอย่างที่เราทำมันก็จะมาปรากฏในตัวของเนื้องานที่ออกมา ถามใจตัวเองดูครับว่าเพื่อนๆ ชอบแบบไหน..

ก่อนจบบันทึกน้อยตอนนี้ผมนั่งตั้งคำถามกับตัวเอง ไม่น่าเชื่อครับว่า ยิ่งเราแสวงหาความต้องการของชีวิตมากเท่าไหร่ เราก็จะค้นพบว่า แท้จริงแล้วความต้องการนั้นมันซ่อนอยู่ในวิถีชีวิตของเรานั่นเอง....

ยอมรับกับถือพระรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งสูงสุด ที่พึ่งอื่นนอกจากนี้ไม่มี...

กังวาน วรกิจ...

เสียงสวรรค์อันประเสริฐดังก้องกังวานไปไกลทั่วพื้นธรณี

ยังคงเป็นมนต์ขลังบางกุฎีทอง ที่ไม่มีวันเสื่อมคลายไปจากใจของเหล่าศิษย์จริงๆ...สวัสดีครับ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น